บทความวิชาการทางพระพุทธสาสนา

วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์กับการทำงาน

ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์กับการทำงาน
พระสมุห์แวงชัย  ธมฺมกาโม
           
 
            สังคมโลกในยุคปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความไร้ระเบียบในการควบคุมการทำงานของชีวิต ตัวแปรสำคัญของสภาวะดังกล่าวนั้นซ่อนตัวอยู่บนพื้นฐานของการได้มาของทรัพย์ จัดการทรัพย์สิน การไม่รู้จักกับการเลือกคบบุคคล และการไม่รู้จักใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องทรัพย์สิน หรือเงิน ใครบอกว่าเงินเป็นเพียงตัวเลข ถ้าไม่เรียนรู้ก็จัดการไม่เป็น ถ้าไม่มีความรู้สึกนึกคิด สำนึก จริยธรรม ศีลธรรม ฯลฯ ก็ไม่ง่ายที่จะบริหารจัดการเงิน ที่สุดก็กลายเป็นหนี้สิน รายจ่ายมากกว่ารายรับ ชุมชนที่เข้มแข็งดูได้ไม่ยาก ถ้ามีกลุ่มออกทรัพย์เข้มแข็ง ทายได้เลยว่า ชุมชนนี้ไม่ใช่ชุมชนอ่อนแอ อาจไม่ร่ำรวย แต่น่าจะจัดการชีวิตของตนเองได้ดี อย่างน้อยมีผู้นำซื่อสัตย์สุจริตไม่โกง เพราะกลุ่มออมทรัพย์ที่ล้มเหลวส่วนใหญ่ผู้นำโกงเอง คำว่า วินัย จึงสำคัญ บัญชีรายจ่ายครัวเรือนเป็นเครื่องมือสร้างวินัยชีวิต รู้จักจัดการเงิน จัดการชีวิตอย่างมีแบบแผน
คำถามมีว่า พระพุทธศาสนามีมุมมองเกี่ยวกับทรัพย์สินอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิเคราะห์ถึงท่าทีของวินัยสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติว่า ภิกษุใดรับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์[๑] วินัยบัญญัติดังกล่าวเป็นเหตุให้สรุปได้ว่า เงินตราคือศัตรูของพรหมจรรย์และทรงแนะนำให้เห็นทรัพย์ที่แท้จริง คือความสันโดษ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง[๒] การตีความตามตัวอักษรของพระดำรัสดังกล่าว เงินได้กลายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักวินัยของพระสงฆ์ ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ในท่าทีของวิถีคฤหัสถ์ การแสวงหาทรัพย์สินไม่ใช่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงการมีทรัพย์ถือว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เรียกว่า อัตถิสุข[๓] ในขณะเดียวกันทรงเน้นย้ำถึงวิธีการแสวงหาทรัพย์ด้วยหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์หรือที่เรามักคุ้นกับคำว่า คาถาหัวใจเศรษฐี
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อเป็นแนวในการครองชีพสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน มีความเป็นมาที่ปรากฏในทีฆชาณุสูตร[๔] ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะชื่อว่า กักกรปัตตะ เขตกรุงโกฬิยะ ครั้งนั้น โกฬิยบุตร ชื่อว่า ทีฆชาณุได้เข้าไปเฝ้าพระผู้ภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร แล้วกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี อยู่ครองเรือนเบียดเบียนบุตร ใช้จันทร์ของชาวกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงิน  ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพนี้เพื่อสุขในภพนี้และเพื่อเกื้อกูลในภพหน้าแก่พระองค์ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายถึง ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ ๑) อุฏฐานสัมปทา (การถึงพร้อมด้วยความหมั่น) ๒) อารักขสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการรักษา ๓) กัลยาณมิตตตา (ความเป็นผู้มีมิตรดี) และ ๔) สมชีวิตา (ความเป็นอยู่เหมาะสม) หลักธรรมดังกล่าวที่พระพุทธเจ้าทรงนำเสนอถือได้ว่าเป็นแนวคิดและเครื่องมือที่สำคัญในการนำมาพัฒนาฐานะของตน
            ดังนั้น พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเงินตรา หากแต่พระพุทธเจ้าทรงวางหลักการไว้เป็นภูมิคุ้มกันสำหรับพระสงฆ์ต่อท่าทีของเงินตรา เพื่อป้องกันไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน และไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของเงินตราที่อาจจะพัฒนาไปเป็นอสรพิษที่ย้อนกลับมาทำร้ายหรือทำลายวิถีชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์ได้ แต่นั่นมิได้หมายความว่า พระพุทธศาสนาจะปฏิเสธทั้งหมด กล่าวคือสำหรับวิถีชีวิตของคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือน พระพุทธเจ้าทรงแนะนำแนวทาง คือ ขยันหาทรัพย์ รักษาทรัพย์ให้ดี คบหากัลยาณมิตร และเลี้ยงชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ
ดังได้กล่าวมาแล้ว แนวคิดหรือหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ น่าจะเป็นทางออกให้กับผู้ที่ต้องการสร้างฐานะและความมั่นคงให้กับชีวิต และเพื่อให้เกิดความชัดเจนของเนื้อหา ผู้เขียน กำหนดกรอบของการนำเสนอ ดังนี้
๑) ศึกษาความหมายของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
๒) ศึกษาความสำคัญของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
๓) ศึกษาประเภทของทิฏฐธัมมิกถัตถประโยชน์



๒. ความหมายของทิฏฐธัมมิกถัตถประโยชน์
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์[๕] หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในปัจจุบัน[๖] หรือหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขชั้นต้น ประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มีทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น ที่จะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ[๗] มีดังต่อไปนี้
๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่น ขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้นให้สามารถทำได้สำเร็จ
๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือ ทำลายไปโดยภัยต่าง ๆ
๓) กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคนชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตนเจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา
๔) สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจ้องต้องเหลือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้
ทิฏฐธัมมิกถัตถประโยชน์ที่กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น จัดได้ว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการชีวิตให้มั่นคง มีประโยชน์สุขในปัจจุบันทันด่วน ไม่ต้องรอชาติหน้า ผู้เขียนมองว่า หลักธรรมชุดนี้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชีวิตให้เกิดความสถาพรและมั่งคง โดยจะต้องประพฤติตามหลักธรรมดังกล่าวให้ครบ ทั้ง ๔ ประการ กล่าวคือ ๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร ๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ๓) กัลยาณมิตตา การคบเพื่อนที่ดีมีคุณธรรม และ ๔) สมชีวิตา การดำรงชีพของตนพอเหมาะตามสมควรแก่ชีวิต หลักการทั้ง ๔ ประการนี้ เรียกสั้น ๆ ได้ว่า ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ใช้ชีวิตแบบพอเพียง


. ความสำคัญของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
            ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งในกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมือง การอ่อนกำลังของสายสัมพันธ์ทางสังคม ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำรงชีวิตมากขึ้น การตกงาน การสูญตำแหน่ง การเสียรายได้ การประสบอุบัติเหตุ การตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ในทุกเวลาและสถานที่ ปัจจัยเหล่านี้จึงต้องอาศัยตัวแปรที่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อตนเอง และต้องเป็นการจัดการบริหารความมั่นคงในฐานะที่เรียกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development)
หลักทิฏฐิธัมมิกัตถประโยชน์มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเพื่อยังชีวิตให้สำเร็จประโยชน์ จัดเป็นการบริหารการจัดการทรัพย์ และสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างถูกวิธี ดังที่ พระธรรมปิฎก ได้กล่าวไว้ว่า คนที่จะเรียกได้ว่ารู้จัก รู้จักใช้ทรัพย์ หรือหาเงินเป็น ใช้เงินเป็น เป็นคนที่ทำมาหากินที่ดี ตั้งตัวสร้างหลักฐานได้ และใช้ทรัพย์สมบัติให้เป็นประโยชน์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง เพราะปฏิบัติตามหลักธรรมคือ ทิฏฐิธัมมิกัตถประโยชน์ [๘] และดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ธรรม ๔ ประการ คือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตา และสมชีวิตา...กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม...คนขยันหมั่นเพียรในการทำงาน ไม่ประมาท รักษาทรัพย์ที่หามาได้…เป็นเหตุนำสุขมาให้ในโลกทั้ง ๒ คือ ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้และภพหน้า[๙]
เมื่อวิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านแล้วทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ ดังนี้
            ๑) การถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร ย่อมทำให้หาทรัพย์ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้ว่า บุคคลผู้ทำการเหมาะเจาะไม่ทอดธุระไม่ทอดธุระ ขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้[๑๐]
            ๒) การถึงพร้อมด้วยการรักษา ย่อมทำให้สามารถสร้างอนาคตให้มีฐานะที่มั่นคง
            ๓) การมีกัลยาณมิตตา ย่อมทำให้สามารถเพิ่มพูนโภคทรัพย์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสในประเด็นนี้ว่า มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะนำประโยชน์ และมิตรมีความรักใคร่ ...เมื่อบุคคลสมสมโภคทรัพย์อยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น[๑๑]
            ๔) ความเป็นอยู่เหมาะสม ย่อมทำให้สามารถควบคุมจิตใจไม่ให้หลงตามกระแสนิยม ใช้สอยสิ่งของเพื่อให้เกิดแต่คุณค่าแท้ คือ คำนึงถึงแต่ประโยชน์จากสิ่งของนั้น ๆ
            จากความสำคัญของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ที่นำเสนอไปแล้ว สามารถแสดงเป็นรูปแบบแผนภูมิ ดังต่อไปนี้


   
        



           
. ประเภทของหลักทิฏฐธัมมิกถัตถประโยชน์
ทิฏฐธัมมิกถัตถประโยชน์ หรือธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหลักอันอำนวยประโยชน์ในการทำงาน มี ๔ ประเภท ดังต่อไปนี้
๑.อุฏฐานสัมปทา เป็นการประกอบอาชีพด้วยการขยันทำงาน ขยันขันแข็งในการหาทรัพย์โดยทางสุจริต คนเกียจคร้านทำงาน หาได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์แบบไม่ พระพุทธเจ้าไม่เคยประณามความร่ำรวย หลักเกี่ยวกับอุฏฐานสัมปทาหรือถึงพร้อมด้วยความหมั่น ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสในประเด็นนี้ว่า
กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีพด้วยการงานใด จะเป็นกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม เป็นช่างศร รับราช หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา[๑๒]
            ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงความขยันในหน้าที่การงานโดยมีฐานคือปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา ประเด็นนี้ ดังที่ขงจื้ออธิบายไว้ว่า คนฉลาดและขยัน ควรส่งเสริมให้เป็นใหญ่ คนฉลาดและขี้เกียจ ควรเลี้ยงไว้เป็นที่ปรึกษา คนโง่และขี้เกียจ ยังพอบังคับให้ทำงานได้ คนโง่และขยัน ต้องเอาไปตัดหัวทิ้ง เพราะจะทำให้งานเสีย[๑๓]
คุณภาพของคน สามารถแบ่งออกได้ ๔ ประเภท ในการใช้งาน คือ ๑) ฉลาดและขยัน ๒) ฉลาดแต่ขี้เกียจ ๓) โง่และขี้เกียจ และ ๔) โง่แต่ขยัน ดังต่อไปนี้
            ๑) ฉลาดและขยัน คนประเภทนี้ควรมีการส่งเสริม ค้ำจุน เพราะต่อไปในภายภาคหน้าจะได้เป็นหัวหน้างานที่มีประสิทธิภาพได้
           ๒) ฉลาดแต่ขี้เกียจ คนประเภทนี้เราจะสามารถจูงใจให้ทำงานด้วยรางวัลหรือการลงได้หรือสามารถสร้างระบบมาควบคุมบังคับได้ และคนประเภทนี้ถึงแม้จะคิดทรยศกับหัวหน้างาน เขาก็จะไม่ทำเพราะขี้เกียจ
            ๓) โง่และขี้เกียจ คนประเภทนี้ถึงแม้จะขี้เกียจแต่ก็สามารถใช้อำนาจหรือหน้าที่ในการบังคับในการทำงานได้และถึงแม้ว่าจะโง่ไม่มีความรู้ แต่เขาก็จะทำอะไรที่ไม่นอกเหนือคำสั่งเพราะจะขี้เกียจ อย่างมากก็จะทำตามที่หัวหน้าสั่งงานไปให้จบๆ เท่านั้น หลักๆแล้วแค่ค่อยสั่งงานเท่านั้น ไม่ต้องปวดหัวว่าเขาจะทำอะไรให้เดือดร้อน
            ๔) โง่แต่ขยัน คนประเภทนี้ไม่ควรนำมามอบหมายงานใดๆทั้งนั้น เพราะเมื่อทำแล้วมักจะสร้างความเดือดร้อนและความหายนะมาสู่เราเสมอ
            จากชุดคุณภาพของคนดังที่ได้นำเสนอไปแล้ว แนวคิดที่ถือได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนและรองรับในการปฏิบัติงานคือประเภทคนฉลาดและขยัน เพราะจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและผลของาน
การประกอบอาชีพต่าง ๆ จึงควรมีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และการประกอบอาชีพที่สุจริต ฝึกฝนให้ตนเองมีความชำนาญการและรู้จริงในการงานที่เราทำนั้นพร้อมทั้งตรวจตราหาวิธีการที่เหมาะที่ดีจัดการ และดำเนินการให้ได้ผลดี อุฏฐานสัมปทาจึง จัดเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งว่าด้วยการถึงพร้อมด้วยความหมั่นขยันเพียร ในการปฏิบัติหน้าที่ การงานและการประกอบอาชีพที่สุจริต ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจหาวิธีการที่เหมาะสมที่ดีจัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี การทำงานทุกอย่างจึงต้องอาศัยความขยัน ความบากบั่น และสิ่งที่สำคัญคือความอดทนต่อการงาน เพราะความอดทนเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเผชิญหน้าและต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยจิตใจไม่ย่อท้อ ท้อถอย หรือยอมแพ้
            ในทางกลับกัน การทำงานทุกชนิด ทุกประเภท หากเราไม่ขยัน มีแต่ความเกียจคร้าน ก็จะกลายเป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์และความสำเร็จโดยแท้จริง กรณีเช่น
            หากเราเป็นนักเรียนเกียจคร้านศึกษาเล่าเรียน เอาแต่หนีโรงเรียนไปเที่ยวเตร่ ไปมั่วสุมคบเพื่อนไม่ดี ไม่นานก็ต้องสอบตก ความรู้ไม่มี ไม่สามารถสร้างความรู้ไปต่อยอดหรือเรียนรู้สิ่งอื่นได้ และสุดท้ายก็ต้องออกจากโรงเรียน
            หากเราเป็นชาวไร่ชาวนา ถึงหน้านาก็ไม่ออกไปไถ คราด หว่าน ปักดำ เอาแต่นอนบิดขี้เกียจขณะที่ชาวนาคนอื่นเขาเริ่มหว่านกันแล้ว ผลผลิตของเราก็จะโตช้ากว่า พอถึงหน้าเก็บเกี่ยวก็จะเก็บเกี่ยวไม่ได้ หรือเก็บเกี่ยวได้ก็ได้ผลผลิตไม่ดีเท่ากับคนอื่น
            หากเราเป็นข้าราชการกินเงินเดือนของรัฐ เอาแต่ตื่นสายไปทำงานเพียงเพื่อตอกบัตรเซ็นชื่อให้ตรงเวลา เวลาที่เหลือก็เอาแต่นั่งไขว่ห้าง อ่านหนังสือพิมพ์ คุยกัน เดินไปเดินมา หนีงานไปเที่ยวตามศูนย์การค้าบ้าง นอกจากตัวเองจะไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานแล้ว ยังทำให้รัฐขาดรายได้หรือเสียประโยชน์ที่พึงได้อีกด้วย
            ทรัพย์สมบัติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลมีความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน และในการทำงานจะต้องไม่อ้างเลศต่าง ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสในสิงคาลกสูตรว่า  คหบดีบุตร การหมกมุ่นในความเกียจคร้านมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
            ๑) มักอ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำงาน
            ๒) มักอ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำงาน
            ๓) มักอ้างว่าเวลาเย็น แล้วไม่ทำงาน
            ๔) มักอ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำงาน
            ๕) มักอ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำงาน
            ๖) มักอ้างว่ากระหายนัก แล้วไม่ทำงาน[๑๔]
            ผู้ที่หวังความเจริญด้วยโภคทรัพย์ ควรเว้นจากการอ้างเลศเหล่านี้เสีย เพราะหากมัวอ้างเลศผัดเพี้ยนอย่างนี้แล้ว โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะถึงความสิ้นไป ดังนั้นคนที่มีความหมั่นขยันตจะต้องไม่ให้ความสำคัญแก่ธรรมชาติภายนอกเหล่านี้ อากาศจะหนาวหรือร้อนก็ไม่ตาย ถ้าทำงาน เย็นหรือเช้าอยู่ก็เป็นเวลาที่ทำงานดีคืออากาศไม่ร้อน หิวหรือกระหายก็ไม่เป็นไรทำงานไปสักพักก็รับประทานได้ บรรเทาความหิวความกระกายก็ทำงานได้ เมื่ออยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ถ้าขืนไปอ้างเป็นเหตุให้ไม่ต้องทำงานเลย ก็ไม่ต้องทำกัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงแสดงว่าผู้หวังความเจริญด้วยโภคทรัพย์ จะต้องไม่เกียจคร้านทำงานเพียงเพราะอ้างเลศต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น ความเกียจคร้านจึงเป็นอุปสรรคด่านแรกที่ทำให้คนเราไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ซ้ำยังเป็นการไม่ให้เกียรติในงานที่ทำอยู่ ดังนั้นไม่ว่าตัวเราจะเป็นใคร มีหน้าที่การงานอะไร ล้วนจะต้องขจัดความเกียจคร้านออกไปให้ห่างไกล ต้องสร้างนิสัยเป็นคนขยันหมั่นเพียร บากบั่น มั่งคงต่อการงานจึงเจริญก้าวหน้า กอรปกับความมีใจรักในสิ่งที่ทำ และพอใจใฝ่รักในจุดหมายของสิ่งที่ทำนั้น อยากสิ่งนั้น ๆ ให้สำเร็จ อยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุถึงจุดหมาย พูดง่าย ๆ ว่ารักงานและรักจุดหมายของงาน พูดให้ลึกลงไปในทางธรรมว่า ความรักความใฝ่ใจ ปรารถนาต่อภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดหมายของสิ่งที่กระทำหรือซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยการกระทำนั้น อยากให้สิ่งนั้น ๆ เข้าถึงหรือดำรงอยู่ในภาวะที่ดี ที่ประณีต ที่งดงาม ที่สมบูรณ์ที่สุดของมัน หรืออยากให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้น ๆ ของงานนั้น เกิดมีเป็นจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายที่ดีงามนั้น
จึงกล่าวได้ว่า การจัดการความมั่นคงในการทำงาน ขั้นเบื้องต้น เราควรมีความพึงพร้อมด้วยความหมั่นหรือความขยัน ซึ่งจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในด้านความมั่งคั่ง การดำเนินชีวิตของการทำงาน ความสุข คือ การได้ทำงานและมองไปยังเป้าหมายคือความสำเร็จ มีความโยงใยสัมพันธ์กันเริ่มต้นที่ขยันแสวงหาทรัพย์เพื่อความมั่นคงในชีวิต มีความขยันหมั่นเพียร ขยันขันแข็งในการงานที่เรากระทำอยู่
            . อารักขสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยการรักษา เป็นการรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรมด้วยกำลังแรงงานของตนมิให้เป็นอันตรายสูญเสียโดยมิใช่เหตุ เป็นการรู้จักรักษาทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้คงอยู่ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในคราวจำเป็น เพราะคนบางคนหาทรัพย์ได้ แต่ไม่รู้จักรักษาได้มาเท่าไรใช้หมดไป ก็ไม่มีวันจะตั้งหลักปักฐานได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสในประเด็นนี้ว่า  
กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม[๑๕] ได้มาโดยธรรม[๑๖] เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์นั้นด้วยคิดว่า ทำอย่างไร โภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา จึงไม่ถูกพระราชาริบ โจรไม่ลัก ไฟไม่ไหม้ น้ำไม่พัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักไม่ลักไป นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา[๑๗]
การประกอบอาชีพนอกจากมีหลักฉันทะคือความขยันหมั่นเพียรในการจัดการดูแลกิจการของตนแล้ว ยังต้องรู้จักรักษาทรัพย์ที่ได้มาไม่ให้พิบัติไปด้วยภัยต่าง ๆ เช่น โจรภัย เป็นต้น ในยุคนี้นอกจากจะต้องคิดถึงเรื่องความปลอดภัยของทรัพย์สินที่หามาได้ เราอาจจะต้องคิดถึงวิธีการที่ทำให้ทรัพย์ของเรางอกเงยขึ้น ซึ่งพระองค์เน้นสอนให้เราใช้ปัญญาเป็นหลักในการคิด พิจารณา และคำนวณเสมอ
หากกล่าวในเชิงปฏิบัติแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า อย่างแรกให้รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง อย่างที่สองเป็นการเก็บออมรักษาทรัพย์ไว้เพื่อประโยชน์ในกาลข้างหน้า และอย่างที่สามคือการรู้จักประหยัดอย่างกระเหม็ดกระแหม่ การเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อเป็นทุนก้อนใหญ่ หากได้ทรัพย์มาหมดสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนั้นก็ไม่ควรที่จะเอาทรัพย์หมดสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องงดเว้นหลีกเลี่ยงจากอบายมุข ๖ ประการ คือ
๑) การหมกมุ่นในการเสพของมึนคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
๒) การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืน
๓) การเที่ยวดูมหรสพ
๔) การหมกมุ่นในการเล่นการพนัน
๕) การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตร
๖) การหมกมุ่นในความเกียจคร้าน[๑๘]
เพราะพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้ย่อมเป็นทางรั่วไหลแห่งทรัพย์ ทรัพย์ที่ได้มาควรจะนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น บำรุงเลี้ยงบิดาให้เป็นสุข บำรุงเลี้ยงครอบครัวให้เป็นสุข สงเคราะห์มิตรตามสมควร อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาตามกำลังศรัทธาความสามารถ ช่วยเหลือบ้านเมืองตามหน้าที่พลเมืองดี หากรู้จักแสวงหาทรัพย์ และใช้จ่ายทรัพย์อย่างถูกต้องชอบธรรมก็จะทำให้มีหลักฐานมั่นคง ตั้งตัวทางเศรษฐกิจได้ และทำให้มีความมั่นคงทางทรัพย์สิน เป็นต้น
ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้จ่ายทรัพย์โดยการแบ่งทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน คือ หนึ่งส่วน [ส่วนที่ ๑] ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนที่เกี่ยวข้อง และทำสาธารณประโยชน์ สองส่วน [ส่วนที่ ๒ และ ๓] ใช้เป็นทุนประกอบกิจการอาชีพ อีกส่วนหนึ่ง [ส่วนที่ ๔] เก็บไว้เป็นหลักประการชีวิต และกิจคราวจำเป็น[๑๙]
จากข้อความดังกล่าว การแบ่งทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วนดังนี้
๑) ส่วนที่ ๑ สำหรับใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงคนที่ควรบำรุงเลี้ยงและทำประโยชน์โดยการจัดแบ่งเงินส่วนนี้ไว้เพื่อใช้จ่ายภายในครอบครัว การเลี้ยงดูครอบครัว การเลี้ยงดูบุพพการี หรือบุคคลที่อยู่ในการดูแลของผู้ถือทรัพย์ เป็นส่วนที่เสริมสร้างคุณภาพหรือตอบสนองต่อความต้องของชีวิต
๒) ส่วนที่ ๒ และส่วนที่ ๓ สำหรับการลงทุนประกอบกิจการ เป็นส่วนที่จัดแบ่งไว้เพื่อการทำธุรกิจการงาน เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ การจัดทรัพย์สินจาก ๔ ส่วนนำมาประกอบธุรกิจ ๒ ส่วนนั้นเพราะให้ความสำคัญว่าการลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจการงาน จัดว่าเป็นการพัฒนาอาชีพให้ก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้น
๓) ส่วนที่สี่ สำหรับเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นเร่งด่วน คือการจัดสรรทรัพย์ไว้เพื่อใช้ในคราวฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้คิดวางแผนไว้ล่วงหน้า เช่นการเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออุบัติเหตุ เป็นต้น
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ต้องรู้จักเก็บทรัพย์ใช้จ่ายอย่างประหยัดอดออม  สร้างนิสัยรักการเก็บอดออม มีการประหยัดมัธยัสถ์ รู้จักรักษาทรัพย์ให้รอดปลอดภัยจากพวกมิจฉาชีพหรือไม่ให้พิบัติไปด้วยภัยต่าง ๆ ประการที่สำคัญคือรู้จักใช้จ่ายทรัพย์ที่ได้มาอย่างถูกต้อง ประเด็นที่เกี่ยวกับอารักขสัมปทา คือการถึงพร้อมด้วยรักษา ผู้เขียนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการรักษาโดยมีวีปฏิบัติดังนี้
๑) การสะสมทรัพย์ คือแบ่งทรัพย์ส่วนหนึ่งจากที่หามาได้เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นหรือเพื่อสร้างอนาคตให้มีฐานะที่มั่นคง
๒) การป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์ เช่น ระวังมิให้โจรผู้ร้ายมาลักขโมยแย่งชิงไป การเก็บของมีค่าไว้ในบ้านต้องเก็บให้ปลอดภัยมิดชิด ไม่ควรแต่งกายด้วยของมีค่าเพราะนอกจากจะไม่ปลอดภัยทรัพย์สินแล้ว ยังอาจจะเป็นอันตรายแก่ตนเองอีกด้วย
๓) การถนอมทรัพย์ คือ รู้จักใช้รู้จักถนอมสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้ใช้การได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อชำรุดพอที่จะซ่อมไว้ใช้ได้ก็ต้องซ่อม นอกจากนี้ก็ต้องช่วยกันรักษาทรัพย์ในประเทศหรือเงินไทยไม่ให้รั่วไหลออกไปต่างประเทศ หรือซื้อของต่างประเทศที่เป็นของฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นแก่การครองชีพ
๔) การป้องกันทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ คือ ต้องมีสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สมบัตินั้นโดยชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย เช่น บ้านต้องมีทะเบียนบ้าน ที่ดินต้องมีหนังสือสำคัญแสดงความเป็นเจ้าของ เป็นต้น
.  กัลยาณมิตตตา เป็นการรู้จักคบเพื่อนฝูงที่ดีงามเพราะเพื่อนมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างหรือทำลายฐานะ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสในประเด็นนี้ว่า
กุลบุตรในโลกนี้วางตัวเหมาะสม เจรจา สนทนากับคนในหมู่บ้านหรือในนิคมที่ตนอาศัยอยู่ จะเป็นคหบดี บุตรคหบดี คนหนุ่มผู้เคร่งศีล หรือคนแก่ผู้เคร่งศีลก็ตาม ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ และถึงพร้อมด้วยปัญญา คอยศึกษาสัทธาสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาตามสมควร คอยศึกษาสีลสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศีลตามสมควร คอยศึกษาจาคสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะตามสมควร และคอยศึกษาปัญญาสัมปทาของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาตามสมควร นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา[๒๐]
จึงกล่าวได้ว่า การประกอบอาชีพ จะต้องเลือกปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร กล่าวคือมีเพื่อนที่ดีจะสนับสนุนให้เราหาทรัพย์ รักษาทรัพย์ และใช้จ่ายทรัพย์อย่างสมเหตุสมผล ไม่คบหรือเสวนากับเพื่อนที่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสียโดยเฉพาะการผูกมิตรกับคนที่เหมาะสมที่เรียกว่ากัลยาณมิตร คือ ผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ที่ดี ผู้ที่ปฏิบัติตัวดี ผู้มีศีล ผู้มีใจบุญชอบช่วยเหลือผู้อื่น ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาในศาสนาพุทธ ผู้ที่สามารถจะแนะนำสิ่งดี ๆ และช่วยเหลือเราได้หากถึงคราวจำเป็น
คนเราเมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีเพื่อนด้วยกันทุกคน นับตั้งแต่ยังอยู่ในเยาว์วัยก็ต้องการมีเพื่อนเล่นด้วยกันทั้งนั้น หรือบางทีไม่มีคนเป็นเพื่อนเล่นก็ยังมีสัตว์ต่างๆ เช่น หมา แมว เป็นเพื่อนเล่นแก้ขัดไปได้ การมีเพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะมนุษย์เราจะอยู่คนเดียวตามลำพังไม่ได้ แต่การคบเพื่อนนั้นก็ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะถ้าคบเพื่อนดีก็อาจทำให้กลายเป็นคนดีอย่างเพื่อน และถ้าคบเพื่อนชั่วก็อาจเป็นคนชั่วตามเพื่อนไปได้เช่นเดียวกัน คนโบราณท่านจึงได้สอนไว้เป็นคติเตือนใจว่า คบคนดีเป็นศรีแก่ตัว คบคนชั่วอัปราชัย
ไม่มีใครในโลกนี้สามารถประสบความสำเร็จได้เลยโดยใช้เพียงความสามารถของตัวเองคนเดียว ดังนั้นไม่ว่าการจะทำงานให้สำเร็จหรือการดำรงชีวิตอยู่ให้มีความสุข คนเราจะขาดเพื่อนไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นทำงานให้ก้าวหน้าก็เหมือนการเริ่มต้นคบกับใครสักคน ต้องอาศัยเวลาในการทำความรู้จักและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นไว้ด้วยน้ำใจไมตรีถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เราควรจะมอบให้ผู้อื่นก่อนเสมอ และผลที่ได้คือเราจะได้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากเพื่อนร่วมงานกลับมาเป็นสิ่งตอบแทนอันจะนำพาให้เราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับความไว้เนื้อใจมาแล้ว เราต้องแบ่งแยกและมองให้ออกว่า ใครที่จะเป็นเพื่อนร่วมงานที่เราสามารถไว้ใจเขาได้เช่นกัน เริ่มจากการมองหา เพื่อนที่ดีในที่ทำงานให้ได้หรือที่เรียกกันว่า กัลยาณมิตร
กัลยาณมิตร ก็คือคนที่มีลักษณะในการทำงานเป็นไปเพื่อเกื้อกูลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมมากกว่าจะทำอะไรเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว คนประเภทนี้มักจะชอบช่วยเหลือผู้อื่น ในขณะที่งานของตนก็ใส่ใจดูแลเต็มความสามารถและมักไม่มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือลูกน้อง ใครมาร่วมงานทำงานด้วย งานนั้นก็มักสำเร็จและไม่มีปัญหามากนัก หากจะมีปัญหาก็จะรีบพากันแก้ไข คนแบบนี้เป็นคนที่เราต้องคบหาและให้ความจริงในการทำงานด้วยให้มากที่สุด ส่วนเพื่อนร่วมงานอีกประเภทที่ควรมีไว้บ้างก็คือ เพื่อนร่วมงานแบบพันธมิตร คนประเภทนี้ถ้ามีผลประโยชน์ในงานนั้นก็จะมาร่วมด้วย แต่ถ้าตนเองไม่มีผลประโยชน์ก็จะไม่เข้ามายุ่ง รวมถึงแสดงน้ำใจว่าจะช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามเพื่อนร่วมงานประเภทนี้ก็จำเป็นต้องคบหาไว้บ้าง เพราะอาจเป็นประโยชน์กับเราเองในบางกรณีที่ต้องร่วมงานกัน เช่น อาจต้องอาศัยรถราไปทำงานด้วย หรือมีการแปลเปลี่ยนหน้าที่ที่ต่างคนต่างก็ได้รับประโยชน์ แต่ก็ไม่ควรจริงจังมากนักในเรื่องส่วนตัว เพื่อนร่วมงานประเภทสุดท้ายที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยวด้วยเลย ก็คือ ปาปมิตรคนประเภทนี้โดยพื้นฐานแล้วมักขี้เกียจทำงาน ชอบที่จะมาสายและกลับก่อน ไม่ค่อยรับผิดชอบงาน ทำงานแล้วมักมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไปในเนื้องาน และไม่ค่อยชอบที่จะลงมือแก้ไข เอาแต่โทษคนอื่น นอกจากนั้นความประพฤติส่วนตัวก็มักจะเป็นไปในทางที่ไม่ดี ชอบผิดศีลธรรมบ่อยๆ เช่น เมื่อเลิกงานก็ชอบชวนไปดื่มเหล้า เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน รักการสังสรรค์ รักงานเลี้ยงเป็นที่สุด เพื่อนประเภทนี้ไม่ควรร่วมงานด้วย และควรยุ่งเกี่ยวเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
ลักษณะกัลยาณมิตรในทางพระพุทธศาสนา มีดังต่อไปนี้
๑. เป็นมิตรมีอุปการะ คือ มิตรที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก่อให้เกิดประโยชน์ดังต่อไปนี้
             ๑.๑ เมื่อเพื่อนตกอยู่ในความประมาท ก็ช่วยเหลือคุ้มครองเพื่อนไม่ให้ต้องได้รับอันตราย เช่น ในเวลาที่เพื่อนมึนเมา ขาดสติ สัมปชัญญะ หรือทำการงานด้วยความไม่ประมาท ก็ต้องช่วยตักเตือนให้เพื่อนมีความระมัดระวังหรือทำงานให้รอบคอบ
             ๑.๒ เมื่อเพื่อนตกอยู่ในความประมาท ก็ช่วยเหลือคุ้มครองเพื่อนไม่ให้ต้องได้รับอันตราย เช่น ในเวลาที่เพื่อนมึนเมา ขาดสติสัมปชัญญะ หรือทำการงานด้วยความประมาท ก็ต้องช่วยตักเตือนให้เพื่อนมีความระมัดระวังหรือทำงานให้รอบคอบ
             ๑.๓ เมื่อมีภัยอันตราย เป็นที่พึ่งพำนักได้ คือ เวลาเพื่อนตกอยู่ในอันตรายใด ๆ ก็ไม่ทอดทิ้งเพื่อนให้คุ้มครองเพื่อนเสมอ
             ๑.๔ เมื่อมีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์เกินกว่าที่ออกปากเวลาที่เพื่อนมีความเดือดร้อนในด้านการเงินการทองขึ้นมา และมาขอความช่วยเหลือ ก็เต็มใจช่วยเหลืออย่างเต็มสติปัญญาความสามารถและบางทีอาจช่วยเหลือเพื่อนมากกว่าที่เพื่อนออกปากขอเสียอีก
๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เป็นมิตรที่เรียกว่า สหายมีลักษณะสำคัญดังนี้
            ๒.๑ บอกความลับแก่เพื่อน คนเรานั้นเมื่อมีความลับแล้วมักจะเก็บไม่อยู่ รู้สึกอึดอัดใจมาก แต่ถ้าเที่ยวบอกความลับให้ใครต่อใครรู้ไปทั่ว ก็เป็นอันตรายเหมือนกัน ต่อเมื่อมั่นใจว่าใครเป็นเพื่อนแท้ เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขจริงๆ จึงค่อยบอกความลับของตนได้ เพื่อจะได้ปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร หรือจะหาวิธีป้องกันหรือแก้ปัญหาอย่างไร บางทีเพื่อนก็อาจจะแนะนำหาช่องทางแก้ปัญหาให้ได้
            ๒.๒ ปิดความลับของเพื่อน เมื่อเพื่อนไว้วางใจจนบอกความลับของตนให้แล้ว มิตรแท้จำเป็นต้องรักษาความลับของเพื่อนไว้อย่างสุดชีวิต ไม่แพร่งพรายความลับของเพื่อนให้คนอื่นทราบ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเพื่อน หรือกระทบกระเทือนต่อเกียรติยศชื่อเสียงของเพื่อนได้
            ๒.๓ เมื่อมีภัยอันตรายไม่ทอดทิ้ง เวลาเพื่อนตกอยู่ในภัยอันตรายใดๆ ก็ไม่ทอดทิ้งเพื่อนให้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ร่วมต่อสู้กับภัยอันตรายนั้นๆอย่างเคียงไหล่กับเพื่อน อย่างนี้เรียกว่าเป็น เพื่อนตาย ได้
            ๒.๔ แม้ชีวิตก็สละให้ได้ เมื่อเป็นเพื่อนที่รักใคร่กันจริงๆแล้ว ย่อมยอมเสียสละให้แก่กันได้ แม้กระทั่งชีวิตของตนในเมื่อจำเป็น[๒๑]
๓. มิตรแนะประโยชน์ คือ มิตรที่แนะนำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์เป็นความเจริญก้าวหน้าของเพื่อนเท่านั้น ประกอบด้วยลักษณะดังนี้
            ๓.๑ เมื่อเพื่อนจะทำชั่วเสียหาย ก็คอยห้ามปรามไว้ โดยชี้แนะให้เพื่อนเห็นว่าการกระทำความชั่วนั้นจะนำไปสู่ความทุกข์เดือดร้อนในภายหน้า แล้วก็ให้สติเหนี่ยวรั้งจิตใจเพื่อให้รู้สึกผิดชอบชั่วดี
            ๓.๒ คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี เมื่อห้ามปรามเพื่อนไม่ให้ทำชั่วแล้ว ก็ต้องแนะนำว่าอะไรที่ดีที่ชอบที่ควร แล้วชักชวนให้เพื่อนหันไปทำความดี บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนและสังคม
            ๓.๓ ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง เพื่อนที่ดีจะต้องช่วยแนะนำให้ได้ความรู้ในเรื่องที่เพื่อนยังที่ยังไม่รู้หรือช่วยแนะนำความรู้ในวิชาที่เพื่อนยังไม่เข้าใจให้เข้าใจเพื่อให้เพื่อนมีความรู้แจ่มแจ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้น
            ๓.๔ บอกทางสุขทางสวรรค์ให้ อะไรที่จะเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ ความก้าวหน้าของเพื่อนฝูงแล้ว ก็ไม่รีรอที่จะแนะนำเพื่อนเพราะเพื่อที่ดีนั้นจะต้องหวังความสุขความเจริญของเพื่อน ไม่อิจฉาริษยาในเมื่อเพื่อนได้ดี ในด้านศาสนา สำหรับคนที่เชื่อเรื่อนรกสวรรค์ในชาติหน้า ก็ควรจะแนะว่าการกระทำอย่างไรที่เป็นบาปที่จะนำไปสู่นรกการกระทำอย่างไรที่เป็นบุญเป็นกุศลที่จะนำไปสู่สวรรค์ แล้วก็ห้ามเพื่อนจากการกระทำที่จะนำไปสู่นรก และสนับสนุนให้เพื่อนทำในสิ่งที่จะนำไปสู่สวรรค์[๒๒]
๔. มิตรมีน้ำใจ การคบกันเป็นเพื่อนฝูงนั้น มิใช่อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทองซึ่งเป็นเรื่องทางวัตถุ แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ จิตใจหรือ น้ำใจโดยวิธีนี้คนมีเงินกับคนจนก็คบกันได้ คนมีเกียรติฐานะสูงกับคนสามัญก็คบกันได้ มิตรมีน้ำใจมีลักษณะดังนี้
            ๔.๑ เมื่อเพื่อนมีทุกข์ ก็พลอยทุกข์ไปด้วย ดังคำกว่ากล่าวว่า มีทุกข์ร่วมต้าน มีสุขร่วมเสพไม่ใช่ว่าเมื่อเพื่อนมีทุกข์เรากลับไม่ยินดียินร้าย ปล่อยให้เพื่อนไปตกระกำลำบากเพียงฝ่ายเดียว เราต้องยื่นมือเข้าช่วยยามเพื่อนพบเจอกับภาวการณ์ของความทุกข์
            ๔.๒ เมื่อเพื่อนมีสุข ก็พลอยสุขด้วย อย่างนี้เรียกว่า เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ไม่ใช่เวลาเพื่อนมีความสุขก็พลอยมีสุข แต่พอเพื่อนมีทุกข์ ก็ตีตัวออกห่าง ไม่ร่วมทุกข์ด้วย
            ๔.๓ เมื่อมีผู้ติเตียนเพื่อน ก็ช่วยยับยั้งแก้ไขให้ คือออกรับแทนและช่วยแก้ไขให้ผู้ติเตียนเพื่อนนั้นเข้าใจให้ถูก
            ๔.๔ เมื่อมีผู้สรรเสริญเพื่อน ก็พูดส่งเสริมสนับสนุนว่า ที่เขาสรรเสริญนั้นถูกต้องแล้ว เพราะเพื่อนมีคุณความดีจริงอย่างนั้น ควรแก่การสรรเสริญยกย่องจริงๆ[๒๓]
ดังนั้น การที่คนเรามีมิตรที่ดีหรือกัลยาณมิตร เฉพาะในส่วนมิตรทางโลกมีส่วนสำคัญมากในการสร้างฐานะทางสังคมให้เจริญก้าวหน้า เป็นเพื่อนช่วยคิดช่วยทำการงาน หรือในคราวที่ประสบกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อนก็จะสามารถช่วยเราทำ และช่วยเราคิดได้ เพราะการมีเพื่อนถือเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เราประสบความสำเร็จได้ดีอีกทางหนึ่ง อย่างที่คำคมกล่าวเอาไว้ว่า นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ยากจะเลื่อนตนเองขึ้นสู่ที่สูง[๒๔] ส่วนมิตรที่ทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญก็คือกัลยาณมิตร เพราะกัลยาณมิตรนั้นนอกจากจะประโยชน์ทั้งทางโลกโลกียวิสัยคือความเจริญในหน้าที่การงานแล้วกัลยาณมิตรนั้นยังมีประโยชน์ทางด้านโลกกุตระหรือทางธรรมอีกด้วย กล่าวคือ นอกจากจะทำให้เจริญในชีวิตปัจจุบันแล้ว ถ้าได้กัลยาณมิตรที่อุดมด้วยภูมิธรรมต่างๆ ก็จะสามารถแนะนำสั่งสอนให้เรามีโอกาสได้บรรลุธรรมตามด้วย ซึ่งเป็นการได้ประโยชน์ทั้งในโลกปัจจุบันและอนาคตคือมรรคผลนิพพาน
           
.  สมชีวิตา เป็นการรู้จักครองชีพตามสมควรแก่ฐานะไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสในประเด็นว่า
            กุลบุตรในโลกนี้รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ เปรียบเหมือนคนชั่งของ หรือลูกมือของคนชั่งของ ยกตราชั่งขึ้นดูก็รู้ได้ว่า ต้องลดลงเท่านี้ หรือเพิ่มขึ้นเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่ายและรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ ถ้ากุลบุตรผู้นี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เหมือนคนกินผลมะเดื่อ[๒๕] ถ้ากุลบุตรนี้มีรายรับมาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวหาเขาได้ว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างไม่สมฐานะ แต่เพราะกุลบุตรนี้รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่ายและรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ นี้เรียกว่า สมชีวิตา[๒๖]
            การรู้จักวางแผนในการใช้จ่ายแต่ละอย่างไม่ให้รายจ่ายมากกว่ารายรับเป็นอยู่อย่างพอดีและเพียงคือไม่ให้ฝืดเคืองเกินไปและก็ไม่ฟุ่มเฟือย การจะทำได้อย่างนี้ต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี คือต้องรู้ว่าตัวเองมีทรัพย์อยู่เท่าไร ต้องมีการใช้จ่ายอะไรบ้างในแต่ละวันและจะสามารถหากเงินมาได้อีกเท่าไร ก็คือการรู้จักทำบัญชีรายจ่ายเพื่อให้เกิดความชัดเจนในระเบียบขั้นตอนของรายรับและรายจ่าย นอกจากนี้เราต้องประเมินสินทรัพย์ที่มีอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่ในรูปของเงินสด รถ บ้าน หรือที่ดิน ฯลฯ รวมถึงภาระหนี้สิน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อนำไปประมาณการและวางแผนทางการเงินในขั้นต่อไป
            ในปัจจุบันการมีความรู้และทักษะในการวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ประการแรกเป็นแนวทางการวางแผนการดำเนินงานทางการเงิน ประการที่สองกำหนดขีดจำกัดของรายจ่ายของเรา ประการที่สำคัญที่สุดก็คือส่งเสริมให้เรารู้จักวิเคราะห์การประกอบอาชีพอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ผลจากการวิเคราะห์อาจจะนำมาตัดสินใจขยายการงานหรือจำกัดงบประมาณของตนได้ ในทางกลับกันหากเราไม่รู้จักการบริหารการจัดการค่าใช้จ่ายของตนเองให้เหมาะสมกับเงินที่หามาได้ การใช้เงินโดยไม่มีเป้าหมายทางการเงินอย่างเหมาะสม การไม่รู้จักทางเลือกในการรักษาและเพิ่มมูลค่าของเงิน รวมทั้งความไม่มีวินัยทางการเงิน อาจทำให้เราต้องทำงานหนักไปตลอดชีวิตเพียงเพื่อให้มีเงินจ่ายเฉพาะหน้า การวางแผนการเงินเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับทุกคน เราควรมีความรู้เข้าใจเรื่องการวางแผนการเงินของตนเองอย่างรอบด้านทั้งในการหาเงิน การใช้เงิน การเก็บรักษาและการเพิ่มพูนค่าเงินอย่างชาญฉลาด ที่สำคัญเราต้องลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างนิสัยทางการที่ดี ใครอยากสบายทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า คงต้องเริ่มวางแผนการตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ การใช้เงิน ก่อนที่จะ หาเงินได้โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้เงินเราใช้ตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก เราจึงมีความสุขจากการใช้เงินทั้งที่ยังหาเงินไม่ได้ ต่อมาเมื่อเราหาเงินได้เองการจากทำงาน ปัญหาทางการเงินจึงเกิดขึ้น เพราะคิดว่าการหาเงินได้มากขึ้น จะสร้างความสุข ความสบายในชีวิตได้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่าเงินที่หาได้เพิ่มขึ้น กลับไม่เคยเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเลย การมีความรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งถ้าเราทำได้ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในวิธีการใช้จ่ายตามหลักการที่กล่าวมาคือการใช้จ่ายอย่างมีสติพิจารณาถึงความจำเป็น คุณค่า ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งที่เราต้องการย่อมสามารถทำให้เราหลุดพ้นจากปัญหาทางการเงินได้
ดังนั้น การทำงานหรือการประกอบอาชีพต่าง ๆ จึงควรรู้จักใช้จ่ายทรัพย์เพื่อเลี้ยงชีวิตอย่างสมเหตุสมผล คือรู้จักกำหนดรายรับและรายจ่ายให้มีความพอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ไม่ใฝ่สูงจนเกินตน เกินภาวะและฐานของตนที่ควรจะเป็น หรือไม่โลภอยากได้มากเกินกำลังของตน แต่จะค่อยเพิ่มศักยภาพความสามารถของตนไปทีละน้อยเหมือนกับปลวกสร้างจอมปลวกหรือเฉกเช่นกับนักยกน้ำหนักที่ค่อย ๆ เพิ่มขีดความสามารถในการยกน้ำหนักของตนในท่าต่างๆ ขึ้นไปทีละน้อย ไม่พรวดพลาดเพิ่มน้ำหนักไปทีละมากๆ ทันที เพราะจะเกินกำลังความสามารถของตนในการยก อันจะก่อให้เกิดโทษเป็นอันตรายแก่สุขภาพได้
๕. สรุป
ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ถึงแม้ว่าจะมีมานาน เป็นเวลา ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่ทุกหลักธรรมยังคงทันสมัยอยู่เสมอ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายเรื่องแม้แต่การครองใจคน ใช้ในการดำเนินชีวิตและทำมาหากิน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นวิถีหนึ่งของชีวิต เพราะทุกคนต้องประกอบอาชีพ ผลของการนำธรรมมาประยุกต์ เป็นที่ประจักษ์โดยไม่มีข้อสงสัย เพราะทุกเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นความจริง ดังนั้นไม่ว่าจะปฏิบัติเมื่อสองพันกว่าปี หรือปฏิบัติวันนี้หรือในอนาคตต่อไป โลกจะล้ำหน้าด้วยวิทยาการขนาดไหน ธรรมก็ประยุกต์ตามได้ทัน ได้ผลอย่างแท้จริง
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ จึงเป็นอีกชุดหลักธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมเพื่อประโยชน์ปัจจุบันหรือหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น อันสำเร็จประโยชน์ในหน้าที่การงาน ด้วยองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ
๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการงานปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพสุจริต มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตรา หาอุบายวิธี สามารถจัดดำเนินการได้ผลดี
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย โดยมีหลักคือ รู้จักสะสมทรัพย์เพื่อสร้างอนาคตให้มีฐานะมั่นคง รู้จักป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์ รู้จักถอนทรัพย์ สิ่งของต่าง ๆ ให้ใช้การได้นานที่สุด รู้จักป้องกันทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรมและถูกกฎหมาย
๓. กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในท้องถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้ทรงคุณมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา โดยเลือกคบหามิตร คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มิตรแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์ และมิตรแท้ที่มีความรักใคร่ด้วยใจจริง
๔. สมชีวิตา มีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟูมฟาย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายเกินไป และไม่ฝืดเคืองจนเกินไป จนต้องกินอยู่แร้นแค้น ปล่อยร่างกายให้ได้รับทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือไม่บำรุงรักษาบิดามารดา ปล่อยให้ได้รับความทุกข์ อย่างนี้ถือว่าเป็นคนไม่ดีอย่างยิ่ง
จากชุดหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงนำเสนอทั้ง ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สำเร็จในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะผู้ที่คิดจะตั้งตัวได้ในปัจจุบัน จำเป็นจะต้องตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ถ้าปราศจากธรรมเหล่านี้เสียแล้ว แม้แต่เพียงแค่ประคองตัวให้มีชีวิตรอดก็ยาก
บรรณานุกรม
๑. ภาษาไทย :
                   ก. ข้อมูลปฐมภูมิ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
________. อรรถกถาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฏฺฐกถา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๓๒.
________.ฎีกาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาฎีกา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
                 
                  ข. ข้อมูลทุติยภูมิ
เจษฎา  ทองรุ่งโรจน์. คำสอนของขงจื้อ. กรุงเทพมหานคร : แสงดาว, ๒๕๕๔.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). ธรรมนูญชีวิต. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๔.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร :  บริษัท เอส.อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๕๑.





[๑]วิ.ม. (ไทย) ๒/๕๘๓/๑๐๘.
[๒]ขุ.ธ. (ไทย)  ๒๕/๒๐๔/๙๖.
[๓]องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๖๒/๑๐๖.
[๔]องฺ.อฏฺฐก. (ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๐.
[๕]ธรรมหมวดนี้เรียกสั้น ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือเรียกติดปากอย่างไทย ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ (อัตถะ แปลว่า ประโยชน์ จึงมีประโยชน์ซ้ำกันสองคำ), พระพรหมคุณาภรณ์  (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, (กรุงเทพมหานคร, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย๒๕๕๑),หน้า ๑๑๖.   
[๖]องฺ.อฏฺฐก. (ไทย)  ๒๓/๑๔๔/๒๘๙.
[๗]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, (กรุงเทพมหานคร :  บริษัท เอส.อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๕๑),หน้า ๑๓๙.
[๘]พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ธรรมนูญชีวิต, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๔), หน้า ๓๘.
            [๙]องฺ.อฏฺฐก. (ไทย) ๒๓/๕๕/๓๔๔-๓๔๘.
[๑๐]สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๒๔๖/๓๕๓.
[๑๑]ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๖๕/๒๑๑.
[๑๒]องฺ.อฏฺก. (ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๑.
[๑๓]เจษฎา  ทองรุ่งโรจน์, คำสอนของขงจื้อ, (กรุงเทพมหานคร : แสงดาว, ๒๕๕๔), หน้า ๑๓๖.
[๑๔]ที.ปา (ไทย) ๑๑/๒๕๓/๒๐๕.
[๑๕]ประกอบด้วยธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลธรรม ๑๙ ประการ. องฺ.ติก.ฎีกา. (บาลี) ๒/๑๔/๑๙๓.
[๑๖]ได้มาโดยธรรม ในที่นี้หมายถึง โภคทรัพย์ที่บุคคลดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๙ แล้วได้มา. องฺ.จตุกฺก.อ. (บาลี) ๒/๖๑/๓๕๓.
[๑๗]องฺ.อฏฺก. (ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๑.
[๑๘]ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๔๗/๒๐๒.
[๑๙]ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๖๕/๒๑๑.
[๒๐]องฺ.อฏฺก. (ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๑.
            [๒๑]ดูรายละเอียดใน ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๖๒/๒๑๐.
            [๒๒]ดูรายละเอียดใน ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๖๓/๒๑๐.
            [๒๓]ดูรายละเอียดใน ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๖๔/๒๑๑.
[๒๔]ภูริภัทร, สุดยอดคำสอนแห่งกูรูจีน, (กรุงเทพมหานคร : คลื่นอักษร,๒๕๕๔), หน้า ๑๔๙.
[๒๕]หมายถึงคนที่ต้องการกินผลมะเดื่อ เขย่าต้นมะเดื่อให้ผลสุก ๆ ร่วงลงมาจำนวนมาก แต่แล้วเขาก็กลับหยิบมากินเพียงบางผลเท่านั้น. องฺ.อฏฺก.อ. (บาลี) ๓/๕๔/๒๖๖.
[๒๖]องฺ.อฏฺก. (ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๑-๓๔๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น