บทความวิชาการทางพระพุทธสาสนา

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

สถานภาพพุทธศาสนาในประเทศพม่า
            ประเทศพม่าหรือปัจจุบันทางพม่าให้เรียกว่าเมียนมาร์ หรือมยันมาร์ (Myanmar) ความจริงคำว่า เมียนมาร์ เป็นคำที่พม่าเรียกตัวเองมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเอาจริงจังให้ต่างชาติเรียกเมียนมาร์เมื่อไม่นานมานี้ มอญ เรียกพม่า ว่า ฮะแมร์ ไทยใหญ่เรียกว่า ม่าน อังกฤษ เรียกว่า Burma คนไทยเรียกพม่า ส่วนคำว่า พม่า มาจากคำว่า มะรัมมะ (Maramma) ซึ่งพระเจ้าปิยินสอดี กษัตริย์พม่าองค์แรกที่ปกครองเมืองพุกาม มีพระราชประสงค์จะให้คนที่อยู่ในเมือง พุกาม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติหรือภาษาใด เป็นพวกเดียวกันหมด จึงให้ใช้คำว่า มะรัมมะ สำหรับ เรียกกันทุกคน[1] แต่บางตำราก็ว่าพวกพยู หรือ ปยู ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพม่าอพยพมาจากทิเบตตามแม่น้ำพรหมบุตรเข้ามาสู่พม่า คำว่า พรหมะ นี้แหละได้เพี้ยนเป็นพม่า[2] ประเทศพม่าตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแหลมทอง มีเนื้อที่ประมาณ ๒๖๑,๖๑๐ ตารางไมล์ ทิศตะวันออกติดประเทศจีน ประเทศลาวและประเทศไทย ทิศตะวันตกจดกับประเทศบังคลาเทศ และประเทศอินเดีย ทิศเหนือจดประเทศจีนและประเทศอินเดีย ทิศใต้จดมหาสมุทร อินเดีย และประเทศไทย ภูมิประเทศของพม่า ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเป็นเทือกเขาสูง ได้แก่ เทือกเขาอาระกันโยมา มียอดเขาวิคตอเรีย สูง ๑๐,๐๑๖ ฟุต เป็นยอดเขาสูงสุดในพม่า และเทือเขาปัตไค ในเขตนี้มีป่าไม้มากมีคนอาศัยน้อย ได้แก่ พวกฉิ่น (Chin) และพวกกะฉิ่น (Kachin) ภาคกลางเป็นที่ราบใหญ่ อุดมสมบูรณ์อยู่ในลุ่มน้ำอิรวดี และแม่น้ำสะโตง (Setting) มีเทือกเขาคั่นกลาง ตามปากแม่น้ำทั้งสองเป็น บริเวณดินดอนสามเหลี่ยม (Delta) ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนทับถมกันมานาน จึงเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของพม่า พวกพม่าแท้อาศัยอยู่บริเวณนี้ ส่วนภาคตะวันออกเป็นที่ราบสูงประกอบด้วยเทือกเขาเป็นทิวยาว ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสาละวินไหลผ่าน คนส่วนใหญ่ในเขตนี้เป็นพวกฉาน (Chan) หรือไทยใหญ่ กะเหรี่ยง (Kayin) และกะยา (Kayah) สำหรับภาคใต้ตั้งแต่ปากแม่น้ำสาละวินลงไปจดสุดชายแดน แม่น้ำวิคตอเรีย (Victoria point) คือ เขตที่เรียกว่าแคว้นตะนาวศรี พื้นที่เป็นเทือกเขาและที่ราบชายฝั่งทะเลแคบๆ มีหน้าผาสูงชัดจดฝั่งทะเล ซึ่งชายฝั่งเว้าแหว่งเป็นเกาะแก่ง ในเขตนี้คนส่วนใหญ่เป็นมอญ (Mon) หรือรามัญ แม่น้ำที่สำคัญในประเทศพม่ามี ๓ สาย ดังกล่าวมาแล้ว โดยแม่น้ำอิรวดีเป็นแม่น้ำที่สำคัญที่สุดของพม่ายาวประมาณ ๑,๓๕๐ ไมล์ ต้นแม่น้ำเกิดจากเทือกเขาทางภาคเหนือของพม่า มีสาขาหลายสายที่สำคัญ คือ แม่น้ำชินด์วิน ยาว ๕๕๐ ไมล์ ไหลมาบรรจบกันที่บริเวณใกล้เมืองมยิงยาน ตอนกลางของประเทศแล้วไหลมาทางตอนใต้ ลงอ่าวเมาะตะมะใกล้เมืองย่างกุ้ง ตามบริเวณปากแม่น้ำ เป็นดินดอนสามเหลี่ยมกว้างใหญ๋และมีลำธารมาก ทำให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะแก่การเพาะปลูกอย่างยิ่ง ส่วนแม่น้ำสาละวินหรือแม่น้ำคง ยาวประมาณ ๑,๗๕๐ ไมล์ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตังลาในประเทศจีนไหลมาทางใต้ผ่านรัฐฉานและบางตอนของแม่น้ำ เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า  ไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะ หรือ มะตะบัน (Mataban) ที่เมืองมะละแหม่งหรือเมาะลำเลิง (Moulmein) สำหรับแม่น้ำสะโตงยาวประมาณ ๓๕๐ ไมล์[3] ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาทางภาคเหนือของพม่า ไหลลงใต้ผ่านเมืองมัณฑะเล อมรปุระ อังวะ ตองอู สะโตง ไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะเช่นกัน ประเทศพม่าตั้งอยู่ในเขตมรสุม จึงมีฝนตกมาก มี ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ส่วนดินแดนในแคว้นตะนาวศรีมีฝนตกชุกตลอดปี ทำนองเดียวกับทางภาคใต้ของประเทศไทย
            ประเทศพม่ามีประชากร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ประมาณ ๕๐,๕๑๙,๐๐๐ คน ประกอบไปด้วยชนเชื้อชาติต่าง ๆ คือ พม่า กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มอญ ยะไข่ (Rakhine) อินเดีย กะฉิ่น ฉิ่นจีน และอื่น ๆ นับถือศาสนาพุทธ ๙๒.๓ % ศาสนาคริสต์ ๔ % ศาสนาอิสลาม ๓% ศาสนาฮินดู ๐.๗ และกฎหมายรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ บัญญัติไว้ว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติพม่า ประเทศพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ – ๒๔๙๐ และได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ประเทศพม่าเป็นสหภาพ เพราะประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ในสมัยที่อังกฤษปกครอง อังกฤษให้ชนชาติต่าง ๆ ปกครองกันเองภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำประเทศสหภาพพม่า และเมื่อพม่าเป็นเอกราชแล้วก็มีรัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ระบุไว้ว่าให้รัฐต่าง ๆ คือ ๑.รัฐฉิ่น ๒. รัฐกะฉิ่น ๓. รัฐ กะเหรี่ยง ๔. รัฐกะยา ๕. รัฐมอญ ๖. รัฐยะไข่ ๗. ฉาน หรือไทยใหญ่ มีอิสระปกครองตนเองเมื่อครบ ๑๐ ปีแล้ว แต่ครั้นครบกำหนด ๑๐ ปีแล้ว พม่าไม่ยอมทำตามสัญญา กลับยึดอำนาจไว้กับตนฝ่ายเดียว ไม่ยอมให้ชนชาติอื่นปกครองตนเอง จึงเกิดการสูรบกันกับชนกลุ่มน้อย ตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้
            พม่าเป็นคนเผ่ามองโกล ดังจะนำความเป็นมาของชนเผ่าต่าง ๆ ในพม่า และเอเชีย โดยย่อมาแสดงดังต่อไปนี้ นักปราชญ์เชื่อกันว่า แผ่นดินที่เป็นประเทศพม่าเดี๋ยวนี้ เดิมทีเดียวตอนใกล้ฝั่งทะเลเป็นที่อยู่ของคนผิวดำ ผมหยิก ฝรั่งเรียกว่า พวกอินโดนีเซีย ไทยเรียกว่า เงาะ หรือชาวเล ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล ประมาณ ๕๐๐ ปี พวกมองโกเลีย เริ่มอพยพจากดินแดนที่เป็นประเทศจีนเดี๋ยวนี้ มาตั้งภูมิลำเนาในแผ่นดินพม่า คนเผ่ามองโกเลียที่อพยพลงมาพวกแรก พูดภาษาเดียวกัน และลงมาจากจีนภาคใต้โดยทางเดียวกัน แต่มาแยกกันเมื่อถึงแม่น้ำโขง โดยพวกหนึ่งอพยพไปตามแม่น้ำโขง แล้วตั้งภูมิลำเนาที่นั่น ภายหลังได้นามว่า เขมร หรือ ขอม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่า ยังมีอีกพวกหนึ่งอพยพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ได้นามว่า ลาว หรือ ละว้า ส่วนอีกพวกหนึ่งอพยพไปทางแม่น้ำสาละวิน ไปตั้งภูมิลำเนาชายทะเลใกล้ปากแม่น้ำสาละวิน พวกนี้ต่อมาได้นามว่า มอญ แล้วต่อมาพวกมอญได้ขยายอาณาเขตขึ้นไปทางเหนือจนถึงแม่น้ำสะโตง และแม่น้ำอิรวดี ต่อมารวมกันเป็นประเทศรามัญ ตั้งเมืองสะเทิม หรือสะธรรมวดี (Thaton) เป็นเมืองหลวง กาลต่อมาพวกมองโกลอีก ๓ จำพวก พูดภาษาต่างกัน เดิมอยู่ในดินแดนจีนทางด้านตะวันตกติดกับประเทศทิเบต อพยพลงมาทางแม่น้ำอิรวดี โดยจำพวกที่หนึ่งนำหน้ามาก่อน เรียกว่า พวกพยู (Pyu) มาตั้งภูมิลำเนาต่อแดนมอญทางเหนือ รวมกันเป็นประเทศ และตั้งเมืองสารเขต ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองแปร (Pye หรือ Prome) เป็นเมืองหลวง จำพวกที่สอง อพยพตามพวกพยูลงมา ไทยใหญ่เรียกพวกนี้ว่าม่าน (Myen) พวกนี้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางเหนือดินแดนพวกพยูขึ้นไปจนต่อแดนไทยสมัยอยู่ที่เมืองน่านเจ้า ตั้งเมืองตะโก้งเป็นเมืองหลวง จำพวกที่สาม เรียกว่า พวกการัน (Karan) ไปตั้งภูมิลำเนาชายทะเลอ่าวเบงกอล ต่อมาเป็นประเทศได้นามว่า ยะไข่ (Araccan หรือ Rakhine) ดังนั้นประเทศพม่าในปัจจุบัน จึงมีชาวเมืองดั้งเดิมที่เป็นพวกใหญ่ ๔ ชาติ แบ่งอาณาเขตของพวกพยู ภาคใต้เป็นอาณาเขตพวกมอญ และภาคตะวันตก เป็นอาณาเขตของพวกยะไข่ ส่วนพวกเงาะที่ภาคใต้เป็นอาณาเขตพวกมอญ และภาคตะวันตก เป็นอาณาเขตของพวกยะไข่ ส่วนพวกเงาะที่อยู่ดั้งเดิม ทนพวกที่มาเบียดเบียนไม่ไหว ก็พากันอพยพไปอยู่กับพวกของตนที่อยู่ ตามเกาะในมหาสมุทร หรือหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา[4] เพราะฉะนั้นพม่าก็คือพวกพยูและพวกม่านนั่นเอง สำหรับมอญนอกจากจะเรียกกันว่ามอญและรามัญแล้ว ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เตลง อีกด้วย โดยคำนี้มาจาก คำว่า เตลิง ซึ่งเป็นชื่อแคว้นหนึ่ง คือ เตลิงคณะ อยู่ใต้แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ชาวแคว้นเตลิงคณะ ได้อพยพมาอยู่ที่อ่าวเมาะตะมะ ต่อมาได้มีการผสมพันธุ์กันระหว่างมอญกับเตลิง จึงเกิดมีพวกเตลงขึ้นมา[5] พวกมอญได้รวมตัวกันเป็นประเทศรามัญ ตั้งเมืองสะเทิม หรือ สุธรรมวดีบ้าง เมืองเมาะตะมะบ้างเป็นเมืองหลวง แล้วขยายอาณาเขตจนถึงแม่น้ำสะโตง และแม่น้ำอิรวดี ดังสมัยพระเจ้าฟ้ารั่ว หรือพม่าเรียกว่า วเรรุ มาตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองเมาะตะมะ แล้วขยายอาณาเขตไปจนถึงเมืองหงสาวดี ต่อมาเมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วสวรรคตแล้ว พระมหากษัตริย์ที่สืบสายมาจากพระเจ้าฟ้ารั่ว ยังตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองเมาะตะมะอยู่ต่อมาอีกหลายพระองค์ จนถึงพระยาอู่ ซึ่งเป็นพระชนกของพระเจ้าราชาธิราช เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๖ – ๑๙๒๘ ได้ย้ายราชธานี ไปอยู่ที่เมืองหงสาวดี และนับตั้งแต่นั้นมา พงสาวดีก็เป็นพระราชธานีของมอญตลอดมาจนถึงสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ซึ่งแปลว่า สุวรรณเอกฉัตร กษัตริย์พม่า ราชวงศ์ตองอู ซึ่งตีเมืองพงสาวดีได้เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๕ จึงย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี ดังนั้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระเจ้าหงสาวดีจึงเป็นพม่า มิใช่มอญอีกต่อไป[6] แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์ตองอูแล้ว ก็เป็นพม่าบ้าง มอญบ้าง ไม่แน่นอน




๒. ประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า
ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายุคแรกของพม่ายังเลือนรางอยู่ ตามตำนานฝ่ายลังกาและคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งสมณทูต คือ พระโสณะกับพระอุตตระ มาประกาศพระศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ[7] คำว่า สุวรรณภูมิ มีหลักฐานชัดเจนปรากฏในตำราจีนและอินเดีย[8] ได้แก่ นครปฐม ในประเทศไทย และเมืองสะเทิมในประเทศพม่า
พระพุทธศาสนาได้เข้ามาในพม่า ในพุทธศตวรรษที่ ๖ เพราะได้พบคำจารึกเป็นภาษาบาลีในพม่าภาคใต้ และตารนาถ นักประวัติศาสตร์ทิเบตก็ได้กล่าวว่ามีการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทใน พะโคของพม่าและอินโดจีน มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก หลังจากนั้นศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าไปเผยแผ่ ทำให้มหายานกับเถรวาทมีเคียงคู่กันมาในพม่าเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระพุทธศาสนาซึ่งเผยแพร่เข้ามาในระยะที่ผ่านมานี้โดยเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ และปรากฏหลักฐานใน คริสต์ศตวรรษที่ ๕ ว่า รุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรโบราณของพวก พยู (Pyus) ที่เรียนกว่าอาณาจักรศรีเกษตร ได้ตั้งอาณาจักขึ้นบริเวณปากน้ำอิรวดี[9]
เหตุการณ์สำคัญครั้งต่อมาคือ ใน พ.ศ. ๙๔๖ พระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อแปลอรรถกถาจากสิงหลเป็นมคธแล้ว ได้เดินทางออกจากลังกาและได้แวะที่เมืองสะเทิมของพม่า พร้อมกับนำเอาพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ มาที่นั่นด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะเป็นเครื่องเร้าความสนใจให้มีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในพม่าเข้มแข็งขึ้น หลังจากนั้นก็มีปราชญ์ภาษาบาลีเกิดในพม่าหลายคนเขียนตำราไวยากรณ์บาลีบ้าง อภิธรรมบ้าง
มีหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่าชาวมอญฮินดู หรือตะเลง ในเมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองสะเทิม) (สุธรรมวดี) และ ถิ่นใกล้เคียงที่เรียกรวม ๆ ว่า รามัญประเทศ ได้นับถือพระพุทธ ศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรืองมาเป็นเวลานาน พอถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก็ปรากฏว่าเมืองสะเทิมได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว ส่วนชนอีกเผ่าหนึ่งคือ มรัมมะ หรือ พม่า (เผ่าทิเบต ดราวิเดียน) ก็ได้มาตั้งอาณาจักรอันเรืองอำนาจขึ้น มีเมืองหลวงอยู่ที่พุกามในชื่อพม่านั้นถ้าจะเทียบกับภาษาไทย จะใช้ ม สะกด เช่น pagan ไทยเราเรียก พุกาม[10] นับถือพระพุทธศาสนาแบบตันตระ สืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ นั้นเอง พระเจ้าอนุรุทธ หรือ อโนรธรามังช่อ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งมรัมมะ (พ.ศ. ๑๕๘๘ – ๑๖๒๑) ได้มีพระตะเลงแห่งเมืองสะเทิมรูปหนึ่งชื่อ พระอรหัน หรือ ธรรมทรรศรี สามารถเปลี่ยนพระทัยพระเจ้าอนุรทธให้หันมานับถือพระพุทธ ศาสนาแบบเถรวาทอันบริสุทธิ์ได้ พระเจ้าอนุรุทธได้ทรงร่วมกับพระธรรมทรรศี รอนลัทธิตันตระลง และทำพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพุกามประเทศ
รัชกาลพระเจ้าอนุรุทธนี้ เป็นยุคสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชาติพม่า เมื่อพระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว ก็ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้า ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปขอคัมภีร์พระพุทะศาสนาจากกษัตริย์แห่งสะเทิม แต่กษัตริย์สะเทิมไม่ยินยอม พระองค์จึงกรีฑาทัพไปตีเมืองสะเทิมได้ ทรงนำพระไตรปิฎก ๓๐ จบ วัตถุเคารพบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ กับพระภิกษุชาวตะเลงผู้รู้ธรรมแตกฉานบรรทุก ๓๒ หลังช้างกลับมานครพุกามเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พม่ารวมเข้าเป็นอาณาจักรอันเดียวกัน และพุกามผู้ชนะก็รับเอาวัฒนธรรมตะเลงเกือบทั้งหมดมาเป็นของตน ตั้งแต่ตัวอักษร ภาษา วรรณคดี และศาสนาเป็นต้น พระเจ้าอนุรุทธทรงแลกเปลี่ยนศาสนาทูตกับลังกาทรงนำพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกา ๓ จบ และนำมาชำระสอบทานกับฉบับที่ได้จากเมืองสะเทิมทรงอุปถัมภ์ศิลปกรรมต่าง ๆ การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ต่อ ๆ มาก็ได้เจริญรอยตามพระปณิธานในการทำนุบำรุงพระศาสนาเช่นเดียวกับพระองค์[11]
อาณาจักรพุกามได้สลายลง เพราะถูกทอดทิ้งหลังจากการรุกรานของกุบไลข่าน ใน พ.ศ. ๑๘๓๑ หลังจากนี้แม้บ้านเมืองจะระส่ำระส่าย แต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบมา จนถึงรัชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ. ๒๐๐๔ – ๒๐๓๕) สมัยนั้นในพม่ามีคณะสงฆ์เถรวาท ๖ คณะ (จากเขมร ๑ จากลังกา ๕) พระองค์ได้อาราธนาพระสงฆ์มาจากลังกา แล้วให้พระสงฆ์พม่าทั้งหมดอุปสมบทใหม่รวมเข้าเป็นนิกายเดียวกัน แต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคงและการศึกษาพระอภิธรรมได้รุ่งเรืองมากขึ้น
สองศตวรรษต่อมา ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องการครองจีวรออกนอกวัด ทำให้พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ พวก คือ ฝ่ายห่มคลุมพวกหนึ่งกับฝ่ายลดไหล่พวกหนึ่ง พระมหากษัตริย์โปรดฝ่ายห่มคลุมและได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นปกครองสงฆ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางวินัย
ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พระพุทธศาสนาในพม่ามั่นคงดี จนมีพระสงฆ์จากลังการับอุปสมบทกรรมใหม่ ไปตั้งคณะสงฆ์แบบพม่าขึ้นในประเทศของตนมีการแปลพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ มีการสังคายนาครั้งที่ ๕ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ณ กรุงมันดะเล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ และจารึกพุทธพจน์ทั้ง ๓ ปิฎก ลงในแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ในระยะตั้งแต่นี้ มีการเลือกตั้งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ชั่วสมัยหนึ่ง อังกฤษได้เข้ามาแสวงอาณานิคมและมีอำนาจในพม่าเริ่มแต่ พ.ศ. ๒๓๖๘ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือ พระเจ้าธีบอแห่งราชวงศ์อลองพญาได้สิ้นวงศ์ลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ประเทศพม่าได้คืนสู่เอกราช เกิดเป็นสหภาพพม่าเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๒ (เซ็นต์สัญญาอิสรภาพ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๑)
เมื่อพม่าเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็เลิกล้มไป รัฐบาลได้แต่งตั้งประมุขึ้นใหม่สำหรับนิกายสงฆ์ทั้งสามของพม่า นิกายละ ๑ รูป ตลอดระยะเวลาเหล่านี้มีพระภิกษุพม่าที่เป็นปราชญ์มีความรู้แตกฉาน รจนาหรือนิพนธ์ตำราพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพจัดการ ฉัฏฐสังคีตคือ สังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงย่างกุ้งเนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้อาราธนาพระสงฆ์และผู้แทนชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ ไปร่วมศาสนกิจครั้งนี้เป็นจำนวนมาก และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกพร้อมด้วยคัมภีร์อรรถกถาและปกรณ์พิเศษต่าง ๆ[12]

๓. การสังคายนาในประเทศพม่า
ประเทศพม่ามีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกสองครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทดังหลักฐานบันทึกไว้ว่า “ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้มีเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในพม่าร่วมกัน คือการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ เมืองมัณฑะเล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔   เป็นการสังคายนาครั้งแรกในพม่า แต่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๕ ต่อจากครั้งจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้ มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๔๒๙ แผ่น ณ เมืองมันฑะเล ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ (ค.ศ. ๑๘๗๑) พระมหาเถระ ๓ รูป คือ พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม ๒,๔๐๐ ท่าน กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ
              ส่วนการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ในพม่าหรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๖ ที่เรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ จนถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นอันปิดงาน ในการปิดงานได้กระทำร่วมกับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (การนับปีของพม่าเร็วกว่าไทย ๑ ปี จึงเท่ากับเริ่ม พ.ศ. ๒๔๙๘ ปิด พ.ศ. ๒๕๐๐ ตามที่พม่านับ) พม่าทำสังคายนาครั้งนี้ มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ มีการโฆษณาและเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร ทั้งห้าประเทศนี้ ถือว่าสำคัญสำหรับการสังคายนาครั้งนี้มาก เพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน จึงได้มีสมัยประชุม ซึ่งประมุขหรือผู้แทนประมุขของทั้งห้าประเทศนี้เป็นหัวหน้า เป็นสมัยของไทยสมัยของลังกา เป็นต้น ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลอง ทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคน มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ที่ บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ ๒๐๐ ไร่เศษ เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย[13]


๔. นิกายสงฆ์ในประเทศพม่า
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๙๖ เป็นต้นมาถึงปัจจุบันมีนิกายสงฆ์ในพม่า ดังนี้
            ๑. นิกายโตนะหรือสุธรรมนิกาย เป็นนิกายดั้งเดิม พระสงฆ์ส่วนมากเป็นนิกายนี้ปฏิบัติเคร่งครัดน้อยกว่านิกายโยนะ นิกายนี้สืบสายมาจากพระสังฆราชทำนองเดียวกับมหานิกายในเมืองไทย
            ๒. นิกายโยนะ หรือนิกายชเวคยิน เป็นนิกายที่สืบสายมาจากพระอกโปสะยะดอปฏิบัติเคร่งครัดทำนองเดียวกับธรรมยุต เรื่องมีอยู่ว่า ในรัชสมัยของพระเมนดงมินทร์ทรงเห็นพระสงฆ์ประพฤติย่อหย่อนพระธรรมวินัยมาก ทรงมุ่งที่จะปรับปรุงข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้อยู่ในแนวเดียวกัน จึงทรงตั้งมหาเถรสมาคม และให้มหาเถรสมาคมปรึกษากันจัดระเบียบพระสงฆ์ขึ้นใหม่ พระมหาเถระฝ่ายโยนะ มีพระอกโปสะยะดอ เป็นหัวหน้าเสนอความเห็นว่าควรตั้งข้อบังคับให้พระสงฆ์รักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเป็นหมอดู ห้ามเล่นแร่แปรธาตุ ห้ามรับเงินทอง ห้ามซื้อขายและห้ามรับหมากพลูในเวลาวิกาล เป็นต้น แต่พระมหาเถระฝ่ายโตนะนิกาย มีพระสังฆราช เป็นต้น เห็นว่า เป็นการกวดขันเกินไป ควรปฏิบัติอย่างเดิม เพียงแต่คอยปราบปรามเฉพาะพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารก็พอแล้ว พระอกโปสะยะดอท้อใจจึงย้ายไปอยู่ที่เมืองสะแคงหรือสะกาย แล้วร่วมกับพระสงฆ์ที่เมืองนั้นที่มีข้อวัตรปฏิบัติอันเดียวกัน เป็นนิกายเดียวกัน แต่ก็ยังร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์ฝ่ายสังฆราชอย่างเดิม ต่อมาเมื่อพระอกโปสะยะดอมรณภาพแล้วมีศิษย์ของท่าน ๒ องค์ คือ พระชเวคยินสะยะดอ ได้เป็นใหญ่ในคณะสงฆ์เมืองสะกายนั้น ได้ตั้งนิกายชะเวคยินขึ้นมา ซึ่งก็นับถือแบบพระอกโปสะยะดอนั่นเอง แต่ไม่ร่วมสังฆกรรมกรรมกับนิกายโตนะ
            ๓. นิกายทวาร (Dwara) นิกายนี้สืบสายมาจากพระอิงคะสะยาดอ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอกโปสะยะดอ ได้พาศิษย์ลงมาพม่าใต้ นิกายนี้ไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับนิกายสุธรรมนิกาย หรือ นิกายโตนะ เช่นกัน
            ๔. นิกายเหง็ต ทวิน (Hngeit Twin) นิกายนี้สืบสายมาจากพระนิกายทวารพวกหนึ่งรับลัทธิวนวาสีในลังกามาประพฤติปฏิบัติ ถือสันโดษ เที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพรไม่อยู่ประจำในบ้านเมือง และไม่ยอมร่วมทำสังฆกรรมกับนิกายอื่น[14]
            อีกนัยหนึ่งการแบ่งนิกายพระสงฆ์ในประเทศพม่าเป็น ๒ นิกาย ก็คือ
            ๑. มหาคัณฐีนิกาย คือ นิกายที่ประพฤติปฏิบัติตามนิกายเดิม หรือโตนะนิกาย
            ๒. จุลคัณฐีนิกาย คือ นิกายต่างๆ ที่สืบสายมาจากพระอกโปสะยะดอ[15]


๕. บทบาทของรัฐบาลพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนา
เมื่อพม่าเสียเอกราชแก่อังกฤษแล้ว พระสงฆ์พม่ายิ่งแตกเป็นพวกต่าง ๆ จึงเกิดมีนิกายย่อยมากมาย ถือวัตรปฏิบัติตามอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน ถ้าอุปัชฌาย์อาจารย์นิกายใดเคร่งครัดในพระธรรมวินัย สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกของนิกายนั้นก็พลอยเคร่งครัดไปด้วย แต่ถ้าอุปัชฌาย์อาจารย์ในนิกายใดประพฤติย่อหย่อน สัทธิวิหาริกอันเตวาสิกก็ย่อหย่อนตามไปด้วย ดังที่มีพระจำนวนไม่น้อยเข้าดูภาพยนตร์หรือละครตามโรงหนังหรือตามโรงมหรสพต่าง ๆ เป็นต้น ครั้นเมื่อพม่าได้รับเอกราชแล้ว รัฐบาลพม่าต้องการจัดระเบียบสงฆ์ใหม่ให้อยู่ในกรอบเดียวกัน อีกทั้งได้เชิดชูพระพุทธศาสนาโดยประการต่าง ๆ ดังนี้
            ๑. รัฐบาลพม่าได้จัดทำสังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้น โดยนิมนต์พระคณาจารย์จากประเทศต่าง ๆ กลุ่มเถรวาทมาร่วมสังคายนา และให้เกียรติแก่สังฆนายกและนายกรัฐมนตรีของประเทศนั้น ๆ มาเป็นประธานตามสมัยของตน กล่าวคือ รัฐบาลพม่าจะจัดเป็นสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยไทยก็มีสมเด็จพระสังฆนายก และนายกรัฐมนตรีไทยเป็นประธาน เป็นต้น จัดคล้ายกับว่าเป็นสังคายนาของประเทศกลุ่มเถรวาททั้งหมดโดยมีพม่าเป็นผู้นำ
            ๒. รัฐบาลพม่าใช้เงินจำนวนมากสร้างถ้ำจำลองมหาปาสาณคูหานอกเมืองย่างกุ้ง สำหรับทำสังคายนาครั้งนี้โดยเฉพาะ
            ๓. รัฐบาลพม่าได้สร้างถาวรวัตถุที่จำเป็นต้องใช้เนื่องด้วยสังคายนา เช่น หอสมุด โรงพิมพ์ และที่พำนักสงฆ์ ในบริเวณสังคายนาครั้งนั้นด้วย และเมื่อเลิกทำสังคายนาแล้ว อาคารสถานที่เหล่านั้นตกเป็นของพระพุทธศาสนา และพม่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลกขึ้นด้วย โดยให้พระสงฆ์ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานทุกชาติมาเรียน
            ๔. รัฐบาลพม่าถือโอกาสในการจัดทำสังคายนาครั้งนั้น เป็นที่รวมความเป็นปึกแผ่นของพระสงฆ์พม่าให้เป็นอันเดียวกัน มีวัตรปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะในวันทำสังคายนานั่นเอง ในขณะที่พระเถระพม่าประกาศว่าขอให้พระทุกรูปปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและประธานาธิบดีพม่าก็ขึ้นมาประกาศซ้ำอีก แต่ตามโรงหนัง พระก็ยังมาดูกันแน่น รัฐบาลไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะพระเหล่านั้นมีอิสระจนเคยตัวมาเกือบศตวรรษแล้ว
            ๕. รัฐบาลพม่าได้บูรณปฏิสังขรณ์เจติยสถานที่สำคัญทั่วประเทศ เช่น บูรณปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุมุเตาที่เมืองหงสาวดีซึ่งพังลงมาครึ่งองค์ เมื่อครั้งแผ่นดินไหวใหญ่ พ.ศ. ๒๔๗๓ ให้กลับคืนดีดังเดิม
            ๖. รัฐบาลพม่าได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เช่น ช่วยเหลือองค์การพุทธศาสนาในอินเดีย อังกฤษ และอเมริกา อีกทั้งได้สร้างวัดเถรวาทวัดหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นด้วย
            ๗. รัฐบาลพม่าได้แสดงตนเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด เช่น ห้ามดื่มสุราในงานรัฐพิธีเป็นต้น
            ๘. รัฐบาลพม่าตั้งงบประมาณสนับสนุนด้านวิปัสสนาธุระ ให้เจริญก้าวหน้าจนมีสำนักกัมมัฏฐานที่สำคัญ ๆ อยู่หลายแห่ง[16]

๖. สภาพการณ์ปัจจุบันของพระพุทธศาสนาในพม่า
            คณะสงฆ์ในพม่าแบ่งออกเป็นสองคณะใหญ่ คือ คณะนิกายพม่าพวกหนึ่ง คณะนิกายพระมอญพวกหนึ่งแต่มีพระสังฆราชองค์เดียวในตำแหน่ง ศาสนธชะครั้นมาถึงสมัยพระเจ้ามินดง มีพระคณาจารย์รูปหนึ่ง ชื่อ อกโปสะยาดอ เป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัด ครั้นนั้นพระสงฆ์พม่าเกิดย่อหย่อนในเรื่องสิกขาบทมาก พระเจ้ามินดงให้ชุมนุมสงฆ์ตัดสินอธิกรณ์ พระอกโปสะยาดอได้เป็นกรรมการด้วยองค์หนึ่งมีความเห็นขัดกับมติพระสังฆราช เพราะท่านประสงค์จะให้ห้ามพระฉันหมากพลูในเวลาวิกาลด้วย แต่พระสังฆราชเห็นว่าเกินไปจึงไม่รับเอามตินั้น พระอกโปสะยาดอจึงท้อใจพาสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกมาอยู่เสียที่เมืองสะกายแล้วตั้งเป็นคณะขึ้นต่างหาก แต่ก็คงร่วมสงฆกรรมกับพวกพระสังฆราช พม่าจึงมีนิกายสงฆ์เกิดขึ้น ๒ คณะใหญ่ และต่อมายังได้เกิดนิกายย่อยอีก ๓ -๔ นิกาย แต่พวกสังฆราชยังมีมาก เมื่อเสียเอกราชแก่อังกฤษแล้ว พระสงฆ์พม่ายิ่งแตกเป็นหลายพวก ถือวัตรปฏิบัติตามคณาจารย์ผู้เป็นอุปัชฌาย์ คณาจารย์รูปใดเอาใจใส่กวดขันเรื่องวินัย ศิษยานุศิษย์พลอยเคร่งครัดตามไปด้วย คณาจารย์รูปใดย่อหย่อนศิษยานุศิษย์ก็ประพฤติเช่นชาวบ้าน ถึงเข้าดูภาพยนตร์และเล่นการเมืองอย่างเปิดเผย ประจวบกับตำแหน่งพระสังฆราชว่างลงพุทธบริษัทพม่าเข้าชื่อกันร้องขอให้อังกฤษตั้งในนามพระเจ้าอังกฤษจึงได้เกิดพระสังฆราชขึ้นใหม่ แต่หามีอำนาจสิทธิ์ขาดบังคับบัญชาไม่ มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งโดยมากเป็นพระหนุ่ม ๆ คอยคัดค้านคำสั่งพระสังฆราชเสมอ สภาพพระพุทธศาสนาในพม่าเป็นอยู่อย่างนี้จนกระทั่งได้รับเอกราช รัฐบาลพม่ามีโครงการที่จะรวมคณะสงฆ์ทุกคณะให้เป็นอันเดียวกัน ตึงได้ตั้งสภารวมนิกายพม่าขึ้นแต่ก็ไม่ได้ผล รัฐบาลได้จัดพิธีฉัฏฐสังคายนามีโครงการใหญ่โตมาก[17]

๗. อิทธิพลของพระพุทธศาสนาในพม่า
            ๑. ประชากรพม่าร้อยละ ๘๐ นับถือพระพุทธศาสนา (๑๕ ล้านคนจากประชากร ๑๘ ล้านคน)
            ๒. พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตของชาวพม่า
            ๓. วัฒนธรรมประเพณีมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน เช่น ๑) นิยมให้ลูกบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุยังน้อย ๒) นิยมสร้างเจดีย์ไว้ในพระพุทธศาสนา ๓) การศึกษามีวัดเป็นศูนย์กลาง โดยแต่ละวัดจะมีโรงเรียนของวัด ๔) มีงานทำบุญประเพณีและเทศกาลประจำปีทั้งที่เกี่ยวกับในทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญต่าง ๆ ๕) สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น วิหาร เจดีย์ หรือปูชะนีสถานอื่น ๆ ล้วนเป็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ๖) พุทธศาสนิกชนชาวพม่าส่วนมากมักจะสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณได้ทุกคน และจะพากันสวดเสมอทั้งในเวลาเช้าและเย็น
            พระพุทธศาสนามีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจของชาวพม่าจนแทบจะแยกไม่ออก ชาวพม่าผู้ใดเชื่อถือศาสนาอื่น จะถูกเรียก กะละ (Kala) และเป็นคนแปลกหน้าไป ชาวพม่านั้นเทิดทูนพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากความนิยมให้กุลบุตรบรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุยังน้อย จนกล่าวได้ว่าผู้ชายพม่าที่นับถือพระพุทธศาสนาทุกคนล้วนเคยบวชเป็นสามเณรมาแล้ว และไม่น้อยที่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ การบรรพชาอุปสมบทในพม่า ถือว่าเป็นประเพณีมากกว่าจะเป็นการบวชแบบสละโลก (เหมือนการบวชในภาคเหนือของไทย) ภายหลังจะลาสิกขาเมื่อใดก็ได้
            ชาวพุทธในพม่านิยมส่งบุตรหลานของตนไปอยู่วัดชั่วระยะหนึ่ง เพราะถือว่าการจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องใช้ชีวิตอยู่ในวัดสักระยะหนึ่ง มิฉะนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน ชาวพม่านิยมสร้างเจดีย์มากไม่ว่าที่ใดถ้ามีเนินสูง ๆ มักจะสร้างเจดีย์ไว้เสมอ และทุกๆ วัดจะมีโรงเรียนเพราะวัดก็เป็นศูนย์กลางของการศึกษา เช่นเดียวกับในประเทศไทยในอดีต
            นอกจากนั้นพระภิกษุพม่ายังเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พระอภิธรรมปิฎก ทั้งยังได้สร้างงานวรรณกรรม บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ งานด้านกฎหมาย จริยธรรมการเมือง ตลอดจนโคลงกลอนต่าง ๆ มากมาย
            จะเป็นได้ว่า พื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของพม่า หรือตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายในชีวิตของชนชาวพม่า ล้วนแล้วแต่มีรากฐานมาจากหลักธรรมะ และวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น หรืออาจสรุปได้ว่า ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน คนพม่ายังให้ความยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นชีวิตจิตใจอยู่มิรู้คลาย
            พ.ศ. ๒๕๐๔ รัฐบาลออกกฎหมายรับรองว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติพม่า และออกกฎหมายอีกหลายฉบับ ล้วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
            พระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐบาล เสียงของพระสงฆ์มีน้ำหนักที่รัฐบาลจะต้องรับฟัง ทั้งการเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับศาสนา และการเมือง บางกรณีการเกี่ยวข้องของพระสงฆ์ก็สามารถทำให้ปัญหานั้นยุติลงได้ ทำให้เกิดสันติสุข และประชาชนได้รับความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น
            ๑) ด้านการศึกษา พม่าตื่นตัวในเอกราช แล้วปรารถนาจะสำแดงตนเป็นผู้นำทั้งการเมืองและการศาสนา ด้านการเมืองได้ถือหลักปัญจศีล เช่น อินเดีย ด้านศาสนาดูเจตนาจะเป็นผู้นำในกลุ่มเถรวาท ได้ใช้เงินจำนวนมากสร้างถ้ำจำลอง ชื่อ มหาปาสาณคูหา นอกเมืองย่างกุ้งสำหรับเป็นที่สังคายนา และได้นิมนต์พระคณาจารย์จากประเทศกลุ่มเถรวาทมาร่วมสังคายนาและให้เกียรติแก่สังฆนายกทุกประเทศเป็นประธานในพิธีพร้อมทั้งผู้นำประเทศนั้น ๆ ร่วมกันไปด้วยโดยจัดเป็นสมัย ๆ เช่น สมัยไทย ก็มีสมเด็จพระสังฆนายก และนายกรัฐมนตรีไทยเป็นประธาน สมัยเขมร ก็มีสมเด็จพระสุเมธาธิบดีสังฆนายกฝ่ายมหานิกาย และเจ้าฟ้านโรดมสีหนุเป็นประธาน คล้าย ๆ กับว่าเป็นสังคายนานั้นด้วย เมื่อเลิกสังคายนา เช่น หอสมุดโรงพิมพ์ ที่พักพระสงฆ์ อยู่ในบริเวณสังคายนานั้นด้วย เมื่อเลิกสังคายนาแล้ว อาคารสถานเหล่านี้ก็เป็นของพระพุทธศาสนา
            ๒) ด้านเศรษฐกิจ พม่ามีโบราณสถาน และโบราณวัตถุเป็นมรดกทางของชาติมากมายไม่น้อยกว่าประเทศไทย จัดได้ว่าเป็นทรัพยากรที่ประเมินค่ามิได้ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชม และมาใช้จ่ายเงินตราในประเทศ เมื่อใดก็ตามที่พม่าสามารถแก้ปัญหาการเมืองภายในประเทศได้ และสามารถเปิดเสรีต่อการท่องเที่ยว พม่าก็จะเป็นคู่อย่างสำคัญต่อประเทศไทยในเชิงของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว[18]

๘. บทสรุป
ชาวพม่าได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปใช้กับชีวิตประจำวัน พระพุทธศาสนาสอนหลักเศรษฐกิจส่วนบุคคลและครอบครัวโดยทั่วไปด้วย เช่น ผู้ใดปรารถนาจะร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองก็ให้ปฏิบัติตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และขณะเดียวกันยังชี้ให้ทราบถึงเหตุที่จะทำให้ยากจน หรือเหตุที่ทรัพย์สินเสื่อม ๔ ประการ คือ ความเป็นนักเลงผู้หญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงเล่นการพนัน และการคบคนชั่วเป็นมิตร ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นวิธีดำเนินชีวิตในทางเศรษฐกิจ ให้ได้รับความสุขตามวิถีของพระพุทธศาสนา
ประเทศพม่าเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา และในรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีบัญญัติไว้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ เพราะมีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ๙๒.๓ % ศาสนาคริสต์ ๔ % ศาสนาอิสลาม ๓ % ศาสนาฮินดู ๐.๗ % ก็ในโลกมีประเทศที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอยู่ ๓ ประเทศ คือ ศรีลังกา พม่า และไทย โดยประเทศศรีลังกามีชื่อเสียงเด่นในทางพระสูตร ประเทศพม่าเด่นในทางพระอภิธรรม และประเทศไทยเด่นในทางพระวินัย ประเทศพม่าแม้จะเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาประเทศหนึ่ง แต่ก็น่าเสียดายที่ประเทศพม่ามีการปกครองโดยคณะทหาร จึงยังล้าหลังในด้านเศรษฐกิจ และอารยธรรมอยู่มาก เป็นประเทศปิดมานานแล้วตราบปัจจุบัน ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่เจริญเท่าที่ควรเช่นกัน




[1] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เที่ยวเมืองพม่า, (กรุงเทพมหานคร : มติชน, ๒๕๔๕), หน้า ๓๒๒.
[2] เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ ภาค ๒, (กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙), หน้า ๔๕.
[3] ทองใบ แตงน้อย, แผนที่ภูมิศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๔, (กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๑), หน้า ๔๘.
[4] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เที่ยวเมืองพม่า, อ้างแล้ว, หน้า ๓๒๒.
[5] เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ ภาค ๒, อ้างแล้ว, หน้า ๔๕.
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๕.
[7] พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ), ประวัติพระพุทธศาสนา, (กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๘), หน้า ๓๑๖.
[8] พุทธทาส อินทปัญโญ, บัลลังก์ธรรมรถเหนือแผ่นดินพุกาม, (กรุงเทพมหานคร : สุขภาพใจ, ม.ป.ป.), หน้า ๙๘.
[9]เพ็ญศรี กาญจโนมัย นันทนา กบิกาญจน์, เอเชียตะวันออกเฉพียงใต้ในโลกปัจจุบัน, (กรุงเทพมหานคร : คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๖), หน้า ๔๕.
[10] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ไทยเที่ยวพม่า, (กรุงเทพมหานคร : อัมรินทร์ ปริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๔๔๙), หน้า ๑๕.
[11] พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พระพุทธศาสนาในเอเชีย, (กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา, ๒๕๔๐), หน้า๑๘๒ – ๑๘๕.
[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘๖ – ๑๘๗.
[13] สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหา มกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), หน้า ๑๒.
[14] เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ ภาค ๒,อ้างแล้ว , หน้า ๘๖.
[15] ฟื้น ดอกบัว, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ, (กรุงเทพมหานคร : โสภณการพิมพ์, ๒๕๕๔), หน้า ๒๐๙.
[16] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เที่ยวเมืองพม่า, อ้างแล้ว, หน้า ๒๒๖ – ๒๒๗.
[17] พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ), ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, (กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖), หน้า ๓๓๑- ๓๓๒.
[18]คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ประวัติพระพุทธศาสนา, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๐), หน้า ๑๓๘.

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

การบูชาในทางศาสนา



การบูชาในทางพระพุทธศาสนาท่านกล่าวไว้ว่ามี ๒ อย่าง คือ ๑ อามิสบูชาอามิสบูชา ได้แก่การนำสิ่งของไปสักการะไปบูชาบุคคลหรือสิ่งที่ควรบูชา เช่น ให้ข้าว ให้น้ำ ให้เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ตลอดถึงการดูแลปฏิบัติรับใช้ช่วยเหลือผู้มีพระคุณ ด้วยวัตถุสิ่งของและแรงกายของตนปฏิบัติบูชา หมายถึงการบูชาด้วยการปฏิบัติตามแบบที่ท่านทำ ปฏิบัติตามคำที่ท่านสอน ได้แก่ท่านปฏิบัติมาอย่างไรก็ปฏิบัติตาม ท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร ก็ทำตามด้วยความเต็มใจ ด้วยการประพฤติดีปฏิบัติชอบ กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เช่นปฏิบัติตามคำสั่งสอน คำเตือน คำแนะนำของพระพุทธเจ้า ของบิดามารดา ของครูอาจารย์ เป็นต้น
ปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาอย่างหนึ่งใน 2 อย่าง แต่ปฏิบัติบูชาเป้นการบูชาที่สำคัญยิ่ง ยอดเยี่ยมกว่าอามิสบูชา๒ ปฏิบัติบูชาในการบูชาทั้งสองชนิดนั้นท่านว่าปฏิบัติบูชาดีกว่าเพราะทำให้ผู้บูชาพ้นจากทุกได้ แต่อย่างไรก็ตามควรที่จะทำควบคู่กันไปดีกว่าดังเรื่องการบูชาด้วยดอกกรรณิการ์
ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกกรรณิการ์
[๙๑] พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ มีพระมหาปุริสลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ พระองค์ทรงประสงค์ความสงัด จึงเสด็จไปป่าหิมพานต์ พระมุนีผู้เลิศ ประกอบด้วยพระกรุณา เป็นอุดมบุรุษเสด็จถึงป่าหิมพานต์แล้ว ประทับนั่งขัดสมาธิครั้งนั้นเราเป็นวิทยาธรสัญจรไปในอากาศเราถือตรีศูลซึ่งกระทำไว้ดีแล้วเหาะไป     พระพุทธเจ้าส่องสว่างอยู่ในป่า เหมือนกับไฟบนยอดภูเขา เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญและเหมือนต้นพระยารังที่มีดอกบาน เราออกจากป่าเหาะไปตามพระรัศมีพระพุทธเจ้าเห็นคล้ายกับสีของไฟที่ไหม้ไม้อ้อยังจิตให้เลื่อมใสเราเลือกเก็บดอกไม้อยู่ได้เห็นดอกกรรณิการ์ที่มีกลิ่นหอมจึงเก็บเอามา๓ดอกบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า ครั้งนั้น ดอกไม้ของเราทั้ง ๓ ดอกเอาขั้วขึ้นเอากลีบลงทำเป็นเงา (บัง) แด่พระศาสดาด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตน์จำนง เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ วิมานของเราสูง ๖๐ โยชน์กว้าง ๓๐ โยชน์ อันบุญกรรมทำให้อย่างสวยงามในดาวดึงส์นั้น
                            พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

กณิการวรรคที่ ๕๑ตีณิกณิการปุปผิยเถราปทานที่ ๑ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกกรรณิการ์